การตกปลาทะเล

การตกปลาทะเล แบบขว้างเหยื่อปลอมผิวน้ำในแนวราบ (Horizontal Surface Popping) และการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมโดยการกระตุกเหยื่อในแนวดิ่ง (Vertical Jigging) กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเราอย่างกว้างขวาง สิ่งที่เป็นข้อดีอย่างเห็นได้ชัดก็คือ นักตกปลาบ้านเราได้มีการพัฒนาการตกปลาไปสู่อีกขั้นหนึ่ง จากแต่ก่อนที่เคยใช้แต่เหยื่อจริงไม่ว่าจะเป็นหรือตาย ในการตกปลาหน้าดิน กลางน้ำและผิวน้ำ กับการลากเหยื่อปลอมขณะเรือวิ่ง (Trolling)
แท้ที่จริงแล้วการตกปลาทั้งสองแบบข้างต้นที่เรียกกันสั้นๆว่า Popping และ Jigging นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ นักตกปลาอาชีพที่อยู่ใกล้ "ทะเลฝั่งอันดามัน" แถวๆ นางย่อน อำเภอคุระบุรี หรือนักตกปลาแถวๆจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต บางส่วนก็มีการตกปลาด้วยวิธีนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นกลุ่มเล็กๆ ครั้นเมื่อมีนักปลาจากต่างชาติ เช่นจากญี่ปุ่น และสิงค์โปร์เข้ามาตกปลาในบ้านเรามากขึ้น ในระยะหลังๆนี้ได้นำเอาวิธีการตกปลาทั้งสองแบบมาเผยแพร่ และกระแสก็ได้เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว จะสังเกตได้ว่าขณะนี้ ได้มีเรือบริการตกปลาแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเรือส่วนใหญ่จะมีที่จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต เรือเหล่าจัดพื้นที่ด้านหน้าและด้านท้ายเรือโล่งไม่มีหลังคาและเสามาวางให้เกะกะ ส่วนของที่บังคับเรือจะอยู่ชั้นบน เพื่อให้นักตกปลาได้ใช้พื้นที่มากขึ้น

พื้นฐานของการตกปลาแบบ Jigging

Jigging แปลความหมายโดยรวมๆหมายถึง การกระตุก ส่วนการตกปลาแบบ Jigging หมายถึงการตกปลาที่ใช้เหยื่อ Jigs ซึ่งเหยื่อที่ว่าสามารถทำจากวัสดุแบบแข็งจำพวกโลหะเช่นทองเหลือง ตะกั่ว เป็นต้นหรือจะทำด้วยวัสดุนิ่มจำพวก พลาสติคนิ่ม ซิลิโคน หรืออาจผสมผสานกันก็ได้โดยเลียนแบบเหยื่อจริงจากธรรมชาติ เช่นปลา กุ้ง ปลาหมึก เป็นต้น ส่วนเทคนิคการตกนั้นทำได้โดยการสร้างความเคลื่อนไหวให้กับตัวเหยื่อ หรือ “Motion” ให้เลียนแบบเหยื่อธรรมชาติ เช่นการเคลื่อนไหวของกุ้ง การว่ายน้ำของปลาหมึก ปลาเป็น หรือปลาที่กำลังได้รับบาดเจ็บ ซึ่งการสร้างความเคลื่อนไหวหรือ Motion นั้นทำได้โดยใช้คันเบ็ดกระตุก และใช้รอกเป็นตัวเก็บสายเพื่อให้เหยื่อเกิด Action ตามที่ต้องการ ดังนั้นการสร้าง Motion ให้เหยื่อเกิด Action ย่อมทำได้หลากหลายรูปแบบซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของเหยื่อ แบบต่างๆ และตามลักษณะการตกปลาในระดับความลึกของน้ำที่ต่างกัน สำหรับบ้านเรานิยม Jigging สำหรับตกปลาหน้าดิน (Jigging for bottom fish) และ Jigging สำหรับปลากลางน้ำในทะเลเปิด (Offshore jigging)

Jigging สำหรับ ปลาหน้าดิน การ Jigging ประเภทนี้เหมาะกับการตกปลาที่น้ำไม่ลึกมากนัก เทคนิคการสร้างความเคลื่อนไหวให้กับเหยื่อเพื่อให้เกิด Action ทำได้โดยการกระตุกเหยื่อขึ้นลงในแนวดิ่ง ในจังหวะเร็วช้า ต่างๆกันคล้ายๆกับการโสกเหยื่อด้วยชุดเบ็ด ชักโง้ง หรือที่เรียกติดปากกันว่า “:ซาบีกิ” การสร้าง Motion ให้กับเหยื่อ Jigs ขึ้นลงในแนวดิ่ง (Vertical Jigging)ทำได้โดยการปล่อยเหยื่อ Jigs ลงสู่พื้นล่างของน้ำจากนั้นกระตุกคันเบ็ดขึ้นแล้วเก็บสายเข้าไปในรอก จากนั้นก็ลดคันเบ็ดลงแล้วกระตุกคันขึ้นเก็บสายเข้ารอก ทำซ้ำๆที่ความเร็วต่างๆกันจนเหยื่อขึ้นมาถึงบริเวณกลางน้ำ แล้วค่อยปล่อยเหยื่อลงสู่พื้นน้ำหน้าดินอีกครั้ง ซึ่งการตกปลาแบบนี้หวังผลกับปลาหน้าดิน เช่นปลาเก๋า ปลากะพงแดง ปลากะมงตาเพชร ปลาโฉมงามและปลาชนิดอื่นๆ

Jigging สำหรับปลากลางน้ำในทะเลเปิด การ Jigging ประเภทนี้เหมาะกับ การตกปลาน้ำลึกในทะเลเปิดหรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ ชายร่อง” หรือ “ไหล่ทวีป” ที่เน้นปลางกลางน้ำเป็นหลัก เทคนิคสร้างความเคลื่อนไหวให้กับเหยื่อ Jigs เพื่อให้เกิด Action อาจจะใช้วิธีเดียวกันกับวิธีตกปลาหน้าดินคือกระตุกขึ้นลงในแนวดิ่ง หรืออาจจะผสมผสานวิธีการอื่นๆเพิ่มเติมเช่นการสร้างความเคลื่อนไหวในแนวเฉียงเป็นต้น ซึ่งเหยื่อที่เลือกใช้จะมีน้ำหนักน้อยกว่าเหยื่อแบบหน้าดินที่มีความลึกและความแรงของกระแสน้ำเท่ากัน ทั้งนี้วิธีการตกทำได้ด้วยการปล่อยเหยื่อ Jigs ลงสู่ระดับ สองในสามของความลึกของน้ำ จากนั้นค่อยๆ สร้างความเคลื่อนไหวกับเหยื่อจนถึงผิวน้ำ ซึ่งการตกปลาวิธีนี้หวังผลกับปลาหลากหลายชนิดเช่น ปลาตระกูลทูน่า สำลีน้ำลึก ปลาช่อนทะเล ปลาอินทรีย์ ปลาสาก และปลาอื่นๆ

นอกจากนั้นยังมี Jigging ประเภทอื่นๆที่บ้านเราไม่ค่อยนิยมใช้กันเช่น Jigging แบบลอยน้ำ (Drift Jigging) แต่ทั้งนี้ การ Jigging ที่ดีจะเลือกเหยื่อ Jigs ให้เหมาะสมกับสภาวะการตกปลาแบบต่างๆ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงน้ำหนักและสีสันของเหยื่อ ให้เหมาะสมกับความลึกและความแรงของกระแสน้ำไหล รวมทั้งความใส ขุ่นของน้ำ โดยเหยื่อนั้นจะต้องมีน้ำหนักมากพอที่จะสร้างความเคลื่อนไหวในแนวดิ่ง และสว่างพอที่จะให้ปลามองเห็นเหยื่อได้

องค์ประกอบของการตกปลาแบบ Jigging

การตกปลาแบบ Jigging ให้สัมฤทธิ์ผลได้นั้นมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่างนอกเหนือจากวิธีการตกที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว นักตกปลาจะต้องจัดหาหรือเลือกใช้อุปกรณ์ ให้เหมาะสมเช่น ตัวเหยื่อ ตัวเบ็ด รอก คันเบ็ด สายที่ใส่ในรอก และวิธีการประกอบ เช่นวิธีผูกสายหน้า วิธีผูกเบ็ด และรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งจะได้กล่าวถึงพอเป็นสังเขปดังนี้

อุปกรณ์ในการตกปลาแบบ Jigging

เหยื่อ Jigs ดังที่ได้เกริ่นมาข้างต้นแล้วว่าเหยื่อ Jigs นั้นสามารถผลิตจากวัสดุที่เป็นโลหะแบบแข็ง และสามารถผลิตจากวัสดุแบบอ่อน หรืออาจจะผสมผสานระหว่างวัสดุทั้งสองแบบได้ เหยื่อ jigs นั้นสามารถนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งน้ำตื้น น้ำลึก สามารถขว้าง และแม้กระทั่งลากก็ยังใช้ได้ แต่เหยื่อ Jigs นั้นมีข้อจำกัดตรงที่เหยื่อ Jigs ไม่สามารถเลียนแบบเหยื่อจริงได้เหมือนกับเหยื่อ Plugs และ Spinners ที่มีการสร้าง Action ในตัวเองได้ เมื่อมีการลากเหยื่อ ดังนั้นการสร้าง Action ให้กับตัวเหยื่อ Jigs จะต้องทำโดยการสร้าง Motion หรือสร้างความเคลื่อนไหวให้กับตัวเหยื่อโดยการกระตุกที่ความเร็วต่างๆกันซึ่งจะต้องอาศัยคันเบ็ดและรอกเป็นตัวช่วย การเลือกใช้เหยื่อ Jigs ควรพิจารณาดังนี้

- ส่วนหัวของเหยื่อ Jigs นั้นจะต้องสร้างจากวัสดุที่เป็นโลหะให้มีความแข็งแรงสามารถทนต่อการกัด ของปลาไม่ให้ขาดวิ่นได้ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ปลาจะเข้าชาร์ตเหยื่อบริเวณส่วนนี้มากกว่าส่วนอื่นๆ

- ลำตัว (Body) ของเหยื่อ Jigs สามารถทำจากวัสดุใดๆก็ได้ให้มีรูปร่างและขนาด เลียนแบบเหยื่อ จริง เช่นทำจากโลหะเลียนแบบตัวปลา ทำจากพลาสติค เลียนแบบกุ้ง หรือปลาหมึก เป็นต้น สำหรับบ้านเรานิยมใช้เหยื่อที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 – 350 กรัม

-- ตัวเบ็ดนิยมใช้เบ็ดก้านสั้นแบบหนา เน้นความแข็งแรงเป็นหลักซึ่งขนาดของตัวเบ็ดจะต้องสัมพันธ์กับขนาดของตัวเหยื่อโดยทั่วๆจะมีขนาดตั้งแต่ 2/o-10/o การผูกตัวเบ็ดเข้ากับเหยื่อจะใช้สายเชือกถัก หรือสาย ไดนีมา หรือสายเคฟล่า ขนาดตั้งแต่ 100-200 ปอนด์ ผูกเข้ากับตัวเบ็ดและเหยื่อ 1 ถึง 2 ตัว ผูกบริเวณส่วนหัว และส่วนล่างก็ได้ แต่ถ้าใช้เบ็ดตัวเดียว ก็จะผูกที่ส่วนหัวของเหยื่อ

- ขนาดของตัวเหยื่อ จะต้องคำนึงถึงความลึกและความแรงของกระแสน้ำ น้ำหนักของตัวเหยื่อจะต้องมากพอที่จะสร้างความเคลื่อนไหวในแนวดิ่งได้

- ประเภทของเหยื่อ Jigs ตามการใช้งานในเวลาต่างกันเช่นเหยื่อ Jigs สำหรับกลางวันและเหยื่อ Jigs สำหรับกลางคืนอีก เหยื่อ jigs สำหรับงานตกปลากลางคืนนั้นนิยมใช้เหยื่อ Jigs แบบให้สีเรืองแสงบนตัวเหยื่อ ก่อนใช้จะต้องทำการฉายแสงลงบนตัวเหยื่อซึ่งทำได้โดยการรมเหยื่อกับแสงไฟ หรือใช้สปอร์ตไลท์ฉายไปที่ตัวเหยื่อ ก่อนที่จะนำไปใช้งานทั้งนี้เพื่อต้องการให้ปลามองเห็นตัวเหยื่อในที่ที่ไม่มีแสงสว่าง

คันเบ็ดและรอก คันเบ็ดและรอกที่สามารถนำไปใช้กับงานตกปลาแบบ Jigging นั้นสามารถใช้ได้ทั้งชุดแบบสปินนิ่ง และชุดเบทคาสติ้ง หลักการเลือกใช้คันและรอกจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติดังต่อไปนี้

คันเบ็ด ไม่ว่าจะเป็นคันแบบเบทคาสติ้ง หรือสปินนิ่ง

- น้ำหนักคันต้องเบา เพราะการตกปลาแบบ Jigging นักตกปลาจะต้องถือคันเบ็ดไว้ตลอดเวลา

- ความยาวที่เหมาะสม ระหว่าง 5 ฟุต ถึง 6 ฟุต 6 นิ้ว ถ้าสั้นกว่านี้จะสร้าง Action ให้กับเหยื่อได้ยาก และถ้ายาวกว่านี้นำหนักคันก็จะเพิ่มมากขึ้น คันเบ็ดที่ใช้จะเป็นแบบท่อนเดียว หรือคันแบบสองท่อนก็ได้ ในปัจจุบันบ้านเรานิยมใช้คันเบ็ดแบบสองท่อน โดยมีข้อต่อที่ส่วนบนของด้ามจับ (fore grip) ด้ามจับส่วนใหญ่จะใช้เป็นยาง EVA ที่มีน้ำหนักเบา

- ไกด์ จะต้องรองรับการเสียดสีของสายในรอก ที่ส่วนใหญ่จะใช้สาย PE ,Dyneema หรือสายเชือกถัก ซึ่งสายเหล่านี้จะไม่ลื่นเหมือนกับสายเอ็นทั่วไป ส่วนใหญ่วงไกด์ที่นิยมใช้กัน จะมีวงในเป็นซิลิคอน คาร์ไบท์ (SIC) นอกจากนั้นจะต้องพิจารณาขนาดของวงไกด์ตัวแรกให้มีขนาดใหญ่มากพอที่จะลดแรงเสียดทานของสายจากรอก ถ้าเป็นคันแบบสปินนิ่งโดยทั่วไปนิยมใช้วงไกด์ขนาด 40 มิลลิเมตร (เรียกย่อๆว่าไกด์เบอร์ 40) ส่วนไกด์ตัวอื่นๆนอกเหนือจากนั้นจะไล่เรียงกันจากใหญ่ไปหาเล็ก เช่น 40-30-25-20-16-12 เป็นต้นส่วนไกด์ตัวสุดท้ายที่เรียกว่าทิปทอปนั้นควรมีวงในไม่ต่ำกว่า 10 มิลลิเมตรหรือเบอร์ 10 ทั้งนี้เนื่องจากชุดปลายสายส่วนใหญ่จะใช้สาย Fluorocarbon หรือสายโมโนทั่วไป ขนาด 80-150 ปอนด์ต่อเข้ากับสายในรอก ซึ่งถ้าไกด์ตัวปลายหรือไกด์รองลงมามีขนาดเล็กจะทำให้สายหน้าสะดุดกับวงไกด์ได้ ส่วนคันแบบเบทคาสติ้ง ส่วนใหญ่จะใช้ไกด์ เรียงลำดับกันดังนี้ 25-20-16-12-12-12-10 เป็นต้น

- ความแข็งแรงของคัน จะต้องรองรับกับขนาดของสายในรอกได้ โดยส่วนใหญ่คันประเภทนี้จะบอกขนาดสายเป็น PE เช่นขนาด PE 4-6,5-8,6-10 เป็นต้นสำหรับบ้านเราส่วนมากนักตกปลาจะใช้คันเบ็ดที่รองรับสาย PE 4-6 และ 5-8 หากจะเทียบเคร่าๆเป็นปอนด์ จะอยู่ระหว่าง 20-40 และ 30-60 ปอนด์ เป็นต้น

รอก ไม่ว่าจะเป็นแบบเบทคาสติ้งหรือแบบสปินนิ่ง

- ความสามารถสูงสุดของเดรก (Max Drag) ที่สามารถหยุดสายไม่ให้ไหลออกจากรอก ทั้งนี้ความสามารถของเดรกจะสัมพันธ์โดยตรงกับความแข็งแรงของรอก กล่าวคือรอกที่มี Max Drag สูงจะมีความแข็งแรง และมีราคาสูง กว่ารอกที่มี Max drag ต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรอกรุ่นที่ดีที่สุดของแต่ละยี่ห้อไม่ว่าจะเป็น Stella ของ Shimano หรือ Saltica ของ Daiwa ในแบบสปินนิ่ง

- ขนาดของรอก จะต้องมีขนาดใหญ่พอที่รองรับสายในรอก โดยส่วนใหญ่นักตกปลาบ้านเราจะเลือกใช้รอกที่จุสายได้ไม่น้อยกว่า 200 เมตรสำหรับการตกปลาน้ำลึกเกิน 100 เมตร ซึ่งขนาดของรอกจะต้องคำนึงความลึกของน้ำเป็นหลัก

- อัตราทด (Gear Ratio) รอกที่เหมาะกับการตกปลาประเภทนี้ ควรจะมีอัตราทดสูง ทั้งนี้เพื่อการเก็บสายและการสร้าง Action ให้กับตัวเหยื่อทำได้ง่าย ซึ่งรอกเหมาะกับงานชนิดนี้ควรจะมีอัตราทด 5.0:1 เป็นต้นไป

- ตัวอย่างของรอกประเภทนี้ ถ้าเป็นแบบสปินนิ่งของ Shimano ได้แก่

Stella SW 8000 PG Mag Drag = 20 kg,Line Capacity PE 5=250 m.Gear ratio 5.0:1

Stella SW 10000 HG Mag Drag = 30 kg,Line Capacity PE 6=250 m.Gear ratio 6.0:1

Stella SW 20000 PG Mag Drag = 30 kg,Line Capacity PE 8=350 m.Gear ratio 4.4:1

นอกจากนั้นยังมีรุ่นรองๆลงของ Shimano ที่ผลิตขึ้นมาเพื่องานนี้โดยตรง เช่น Twinpower 6000-8000 PG, Biomaster 6000-8000 PG,Ultegra 6000-8000 PG และ Navi 6000-8000 PG เป็นต้น

ส่วนตัวอย่างของรอกในแบบ เบทคาสติ้ง ของ Shimano ได้แก่

Jigger NR 2000P Mag Drag = 7 kg,Line Capacity PE 5=220 m.Gear ratio 5.1:1

Jigger 3000P Mag Drag = 7 kg,Line Capacity PE 6=330 m.Gear ratio 5.1:1

นอกจากนั้นยังมีรุ่นรองๆลงของ Shimano ที่ผลิตขึ้นมาเพื่องานนี้โดยตรง เช่น Trinidad 12-16,Torium 16-20
ส่วนยี่ห้ออื่นๆนั้นนักตกปลาสามารถเทียบเคียงจากคุณสมบัติข้างต้นได้

สายในรอกและสายหน้า

- สายที่ใส่ในรอกที่เหมาะการตกปลาแบบ Jigging ควรจะเป็นสายที่มีอัตราการยืดตัวต่ำหรือไม่มีเลย และควรมีหน้าตัดขนาดเล็กแต่สามารถรับแรงดึงได้สูง ส่วนใหญ่นักตกปลานิยมใช้สาย เชือกถัก เช่นสาย PE (Phycoerythrin) หรือสาย Spectra ,หรือ สาย Braid หรือสาย Dyneema เป็นต้น แต่ทั้งนี้สาย PE ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งสังเกตได้จากบริษัทผู้ผลิตทั้งคันเบ็ดและรอก ต่างได้ถือเอาความสามารถเช่นความจุของสายที่ระบุเป็นเบอร์ของ PE หรือคันเบ็ดที่ระบุความแข็งของคันเป็นขนาด PE สำหรับบ้านเรานิยมใช้สาย PE 4-8 หรือเทียบเคียงได้ประมาณ 30-60 ปอนด์

- สายหน้าที่เป็นส่วนต่อระหว่างสายในรอกและตัวเหยื่อ นิยมใช้สาย Fluorocarbon Leader หรือสาย Mono Leader ที่มีขนาด 80-150 ปอนด์ความยาวไม่น้อยกว่า 2 เมตร ทั้งนี้สาย Fluorocarbon จะทำให้กลมกลืนไปกับน้ำทำให้ปลามองไม่เห็น ประกอบกับสายชนิดนี้มีอัตราการยืดตัวต่ำ และไม่ขดเป็นวงทำให้การวัดปลามีประสิทธิภาพมากกว่าสายโมโนลีดธรรมดา ส่วนการต่อสายในรอก(PE)เข้ากับสายหน้าจะต้องใช้เงื่อนต่อสายที่มีความมั่นคงแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่น เงือน GT knot และ เงื่อน Albright Knot เป็นต้น ส่วนการต่อสายหน้าเข้ากับเหยื่อ Jigs สามารถทำได้ทั้งการใช้เงื่อนต่อแบบ Rapala Knot หรือใช้ clip ที่มีขนาดแข็งแรงก็ได้

บทสรุป ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พอจะเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจการตกปลาแบบ Jigging ได้ทราบรายละเอียดและเทคนิคพื้นฐานได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้การตกปลาแบบ Jigging จะมีนักตกปลาอยู่จำนวนจำกัดและสถานที่ที่ได้รับความนิยมในเวลานี้จะมีเฉพาะ "ทะเลฝั่งอันดามัน" แต่ด้วยกระแสความนิยมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนมั่นใจว่าต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้คงจะมีการตกปลาแบบนี้ทางฝั่งอ่าวไทย ซึ่งจะว่าไปแล้ว ชนิดและปริมาณของปลาทางฝั่งอ่าวไทย ยังคงมีให้นักตกปลาได้ตกประลองฝีมือกันได้บ้างไม่มากก็น้อย
________________________________________

ข้อมูลจาก...เฒ่าหลิว http://www.chinglewtackle.com

-----------------------------------------------------